คนชายขอบสฤณี อาชวานันทกุล
Hugo Chávez: นักปฏิวัติผู้เปลี่ยนโฉมหน้าเผด็จการในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน
October 2, 2006 at 3:10 pm
· Filed under 02, คนชายขอบ -->
ในบรรดาผู้นำประเทศกำลังพัฒนา อูโก ชาเวซ (Hugo Chávez) ผู้นำเวเนซุเอลากำลังเป็น “ขวัญใจ” ของฝ่ายซ้ายสุดขอบทั่วโลก ด้วยวาทกรรมต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลอเมริกาภายใต้การนำของจอร์จ ดับเบิลยู บุช อย่างถึงพริกถึงขิง ดังตัวอย่างจากสุนทรพจน์อันร้อนแรง ที่เขากล่าว ณ สหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2549 ตอนหนึ่งว่า “จักรวรรดิอเมริกันบอกว่า มันต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตย แต่นั่นเป็นประชาธิปไตยของพวกเขาเท่านั้น ประชาธิปไตยจอมปลอมของพวกชนชั้นสูง และผมขอกล่าวว่า มันเป็นประชาธิปไตยที่สร้างด้วยอาวุธ, ระเบิดและกระบอกปืน”
การใช้ “ประชาธิปไตย” เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงระบอบการปกครองของประเทศต่างๆ และพฤติกรรม “ปากว่าตาขยิบ” ของอเมริกา (เช่น สนับสนุนการลอบสังหาร หรือรัฐประหารผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าผู้นำคนนั้นแข็งขืนต่ออเมริกา) ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักคิดหลายรายเขียนเตือนชาวโลกถึงอันตรายของพฤติกรรม “จักรวรรดินิยม” ของรัฐบาลอเมริกาชุดขวาตกขอบมานานแล้ว รวมทั้งอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ซึ่ง “ฟันธง” ไว้สองประการในบทความเมื่อปี พ.ศ. 2546 และอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นำมาอ้างอิงในหนังสือเรื่อง “เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์” ว่า
“หนึ่ง... ป้ายประชาธิปไตยทุกวันนี้แท้จริงแล้วเป็นอาวุธทางการเมือง ซึ่งมีไว้นำหน้าการทหารของอภิมหาอำนาจที่เหลืออยู่เจ้าเดียว สอง... ประชาธิปไตยแบบนำเข้าเช่นนั้น เอาเข้าจริงๆ ก็ทำงานไม่ได้เพราะไม่มีพลังภายในรองรับ”
แต่ชาเวซแตกต่างจากนักคิดผู้ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกัน ตรงที่เขาเป็นทหารนักเผด็จการสมัยใหม่ที่ไม่เพียงแต่เอาตัวรอดในกระแสประชาธิปไตยเบ่งบานได้เท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นทั้งในและนอกประเทศ
ผู้เขียนไม่เคยนิยมชมชอบเผด็จการ โดยเฉพาะ “เผด็จการในคราบประชาธิปไตย” อย่างชาเวซ
แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ชาเวซเป็น “คนชายขอบ” ที่น่าสนใจ เพราะการศึกษาประสบการณ์ของเวเนซุเอลา โดยเฉพาะความเหมือนระหว่าง “ระบอบชาเวซ” และ “ระบอบทักษิณ” อาจเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ในห้วงเวลาที่ระบอบประชาธิปไตยของเราถูกบังคับให้ “ล้างไพ่” เริ่มใหม่อีกครั้ง หลังจากเกิดรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549
ความสำเร็จของชาเวซ (อย่างน้อยก็ “สำเร็จ” พอที่จะทำให้เขาครองอำนาจได้นานเท่าที่เป็นอยู่) เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ระบบทุนนิยมโลกภายใต้ฉันทามติวอชิงตัน และประชาธิปไตยโมเดลอเมริกัน ไม่ได้เป็น “จุดจบของประวัติศาสตร์” อย่างที่ฟรานซิส ฟูกูยามา เคยอวดอ้าง
ตรงกันข้าม ยิ่งโลกเราหมุนเร็วขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะได้เห็นโมเดลใหม่ๆ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
หากเราเลิกยึดติดกับฉลากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ” เนื้อแท้ของระบอบชาเวซ ที่มีลักษณะกุมอำนาจแบบเผด็จการอยู่มากมาย ทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง อาจไม่ต่างจากระบอบการเมืองของประเทศไทยภายใต้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เท่าไรนัก
อาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เคยให้นิยามการเมืองไทยว่า “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ”
ผ่านไปสี่สิบกว่าปี ถึงรัฐประหาร พ.ศ. 2549 หลังจากที่ประเทศไทยมี “นายกฯ พระราชทาน” ชั่วคราวสมใจอยากของผู้ต่อต้าน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หลายคน เนื้อแท้ของการเมืองไทยก็ยังไม่เป็น “ประชาธิปไตย” กว่าเดิมเท่าไหร่ ดังที่อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ วิเคราะห์ในบทความเรื่อง “การเมืองระบอบ “ลูกขุน/ลูกป๋าอุปถัมภ์” แบบประชาธิปไตย?” ตอนหนึ่งว่า:
“เอาเข้าจริง ประชาธิปไตยของไทยกลับต้องการ “ผู้อุปถัมภ์” พอๆ กัน ทั้งในเมืองและชนบท หรืออาจกล่าวได้ว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยของทุกฝ่ายนั้น ความจริงแล้วเป็นเพียงการเรียกร้องผู้อุปถัมภ์มากกว่าการเรียกร้องตัวแทนของเขาที่สามารถถูกตรวจสอบได้และบังคับให้มีการรับผิดได้ (accountable)… หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า การจรรโลงประชาธิปไตย (democratization) ของไทยนั้นอาจอยู่ได้และดำเนินไปด้วยปัจจัยที่เราเคยนึกว่าเป็นปัจจัยนอกประชาธิปไตย”
ก่อนที่เราจะมี “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ในอุดมคติได้ ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงบริบทของวัฒนธรรมและสังคมไทย และข้อเท็จจริงของความแตกต่างระหว่างชนชั้น เพราะความแตกแยกเชิงโครงสร้างเป็นภาวะหรือเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการ “สร้าง” ความชอบธรรมในการยึดอำนาจของเผด็จการ ดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สรุปไว้ในบทความเรื่อง “สถานะตรงกลางที่หายไป” ซึ่งพูดถึงเผด็จการทหารในฐานะ “ผู้เชื่อมประสาน” ระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง:
“ดังที่มีผู้กล่าวไว้มากแล้วว่า ความแตกแยกของสังคมไทยนั้น ในขั้นพื้นฐานแล้วไม่ได้มาจากการกระทำของนักการเมืองคนใดทั้งสิ้น แต่มาจากความแตกแยกทางเศรษฐกิจ-สังคม ซึ่งเป็นผลผลิตของนโยบายพัฒนาที่ดำเนินสืบเนื่องมาหลายทศวรรษ
เรามีคนชั้นกลางซึ่งหมายถึงผู้ที่สามารถปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจทันสมัยอยู่ประมาณหนึ่งในสี่ของพลเมือง แต่เรามีคนอีกจำนวนมากซึ่งปรับตัวไม่ได้ และกลายเป็นเบี้ยล่างของระบบ (แรงงานไร้ฝีมือ, แรงงานนอกระบบ, แรงงานชั่วคราว, เกษตรกรรายย่อย, ฯลฯ) นับวันความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมของสองกลุ่มนี้ก็ยิ่งถ่างกว้างมากขึ้น
บทบาทผู้เชื่อมประสานระหว่างคนสองชั้นนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ระบอบเผด็จการทั้งหลายดำรงอยู่ได้... เผด็จการย่อมรักษาอำนาจได้ตลอดไป หากคนชั้นกลางที่กลายเป็น “ชนชั้นนำทางการเมือง” ไม่อาจเชื่อมต่อกับมวลชนได้ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็จะเป็นแต่เพียงการแย่งชิงจัดสรรผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กๆ ในเขตเมือง และเปิดโอกาสให้อำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซงได้ในฐานะผู้เชื่อมประสาน”
ในบริบทเช่นนี้ “ประชาธิปไตย” แบบที่เหมาะกับเมืองไทยที่สุด อาจไม่ใช่การถอนรากถอนโคนระบอบอุปถัมภ์ทั้งดุ้น เพราะระบอบอุปถัมภ์เป็นส่วนสำคัญที่แกะไม่ออกจากโครงสร้างสังคม-เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะระบอบอุปถัมภ์ในชนบท ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ช่วยอุ้มชูผู้ยากไร้ ในประเทศที่เจ้าหน้าที่รัฐยังใช้อำนาจบาตรใหญ่เอาเปรียบคนจนอย่างไม่กลัวเกรงกฎหมาย และรัฐบาลยังไม่เคยสร้าง “ตาข่ายสังคม” ที่แท้จริงให้กับพวกเขา
ก่อนที่คนไทยจะตกลงกันได้ว่าระบอบการเมืองในฝันนั้นมีหน้าตาอย่างไร ต้องมองลึกลงไปที่ “สาระ” ของระบอบ (เช่น จะใช้หลักนิติรัฐอย่างไร สิทธิเสรีภาพข้อใดบ้างที่เราตกลงกันได้ว่าเป็น “สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” ที่รัฐล่วงละเมิดไม่ได้) โดยไม่ยึดติดกับฉลากทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น “เผด็จการ” หรือ “ประชาธิปไตย” ก็ตาม
ตราบใดที่สังคมไทยยังพัฒนาไปไม่ถึงฝั่งฝัน (ซึ่งต้องมาร่วมกันนิยามว่าอยู่หนใด) และตราบใดที่ชนชั้นกลางยังไม่สนใจผู้ยากไร้ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ คนไทยอาจมีตัวเลือกเพียง “เผด็จการในคราบประชาธิปไตย” กับ “ประชาธิปไตยในคราบเผด็จการ” เท่านั้น ซึ่งแบบไหนจะดีกว่ากันก็อยู่ที่ระดับคุณธรรม และระดับความใจกว้างของผู้นำประเทศเป็นหลัก
นักธุรกิจพันล้านชาวไทยที่ผันตัวมาเล่นการเมือง กับทหารนักปฏิวัติชาวเวเนซุเอลาที่ลงเลือกตั้งหลังจากทำรัฐประหารไม่สำเร็จ ดูเผินๆ อาจไม่มีอะไรเหมือนกันเลย โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายหนึ่งเอาอกเอาใจรัฐบาลอเมริกันชุดจอร์จ บุช ผู้ลูก อย่างออกนอกหน้า ในขณะที่ฝ่ายหลังถึงกับประณามบุช จูเนียร์ ว่าเป็น “ปีศาจร้าย” ต่อหน้าสหประชาชาติ (แต่อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าประเทศไทยมีคลังน้ำมันมหาศาลที่อเมริกาต้องพึ่งพาเหมือนเวเนซุเอลา รัฐบาลไทยบางช่วงอาจเลือกเล่นบทแข็งกร้าวเหมือนชาเวซก็ได้)
แต่เมื่อดูสไตล์การบริหารจัดการในระบอบที่ทั้งคู่ต่างอ้างว่าเป็น “ประชาธิปไตย” พวกเขาอาจมีอะไรเหมือนกันมากกว่าที่คุณคิด ไม่ว่าเราจะขนานนามระบอบของพวกเขาว่าอะไรก็ตาม
การวิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ “ผู้นำสไตล์เผด็จการ” ทั้งคู่ แม้ว่าปัจจัยส่วนหนึ่งอาจเป็นการ “จัดฉากหลอกลวง” ประชาชน มากกว่าการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน อาจชี้ให้เราเห็นความผิดพลาดของนโยบายการบริหารจัดการประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ที่มุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว โดยไม่คำนึงถึงการกระจายรายได้ ความเสมอภาคทางสังคม และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
เพราะระบอบประชาธิปไตยไม่มีวันยั่งยืน ไม่ว่าในประเทศไหน ตราบใดที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนอยู่
สำหรับผู้ยากไร้ที่ถูกรัฐรังแกและทอดทิ้งตลอดมา “เผด็จการที่กินได้” หรือแม้แต่คำมั่นสัญญาของมัน ยังไงๆ ก็คงดีกว่า “ประชาธิปไตยที่กินไม่ได้” อยู่วันยังค่ำ
......
เจ้าพ่ออูโก
แปลและเรียบเรียงบางตอนจากบทความเรื่อง “Hugo Boss” โดย ยาเวียร์ คอร์ราลส์ (Javier Corrales) ตีพิมพ์ในนิตยสาร Foreign Policy ฉบับเดือนมกราคม/กุมภาพันธ์ 2549
เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบสิ้นสุดลง ทวีปอเมริกาใต้ดูเหมือนจะหลุดพ้นจากวงจรของระบอบเผด็จการทหารได้ในที่สุด หลังจากกระแสประชาธิปไตยที่เริ่มก่อตัวเมื่อสามสิบปีก่อนเปรียบเสมือนคลื่นยักษ์ที่ไม่มีใครยับยั้งได้ ไม่มีประเทศใดในทวีปที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ยกเว้นไฮติ แม้ว่าทหารจะลุกฮือขึ้นปฏิวัติเป็นครั้งคราว ท้ายที่สุดสันติสุขภายใต้รัฐธรรมนูญก็กลับคืนมาดังเดิม ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนสะท้อนเสียงสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ และสถานการณ์ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นใจต่อเผด็จการทหารอีกต่อไป
นั่นคือบรรยากาศในวันที่ อูโก ชาเวซ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลาในปี พ.ศ. 2541 อดีตนายพลผู้พยายามปฏิวัติแต่ไม่สำเร็จเมื่อหกปีก่อน กลับได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจากประชาชนให้เป็นผู้บริหารสูงสุด ภายใต้การปกครองของชาเวซ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ปีที่สิบในไม่ช้า เขารวบอำนาจการปกครองมาไว้ที่ตัวเอง ระรานฝ่ายค้าน ลงโทษนักข่าว สั่งฟ้ององค์กรพลเรือนมากมาย และเพิ่มขีดการควบคุมของรัฐในเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ชาเวซก็ทำให้ระบอบเผด็จการกลับมาทันสมัยอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่สำหรับทุกคน แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เขาชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ จุดยืนและโวหารอันร้อนแรงของชาเวซที่ต่อต้านทั้งอเมริกาและลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberal) ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษของนักคิดฝ่ายซ้ายหลายคนทั่วโลก
ผู้เชี่ยวชาญหลายราย (และแน่นอน รวมผู้สนับสนุนชาเวซด้วย) ไม่ยอมรับว่าเวเนซุเอลาได้กลายเป็นระบอบเผด็จการ หรืออัตตาธิปไตย (autocracy) เพราะชาเวซคือผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นเป็นคุณสมบัติอันแปลกประหลาดของระบอบชาเวซ – เขาได้ลบล้างความขัดแย้งทั้งมวลระหว่างระบอบเผด็จการ และขีดความสามารถในการแข่งขันทางการเมืองของเผด็จการนั้นๆ
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นคือ ความสำเร็จของชาเวซไม่ได้เป็นเพียงผลลัพธ์ของเสน่ห์ส่วนตัว หรือบริบททางท้องถิ่นเท่านั้น แต่เขาได้ปรับเปลี่ยนระบอบเผด็จการให้ทันสมัย เข้ากับยุคประชาธิปไตยเบ่งบานอย่างได้ผล สูตรการปกครองของชาเวซกำลังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักการเมืองในหลายประเทศข้างเคียง เช่น เม็กซิโก และบราซิล และชื่อเสียงของชาเวซที่กำลังขจรขจายในเวทีโลกอาจผลักดันให้ทหารนักเผด็จการในทวีปอื่นๆ หันมาเอาอย่างเขา
ประชาธิปไตยอำพราง
ภายใต้การปกครองของชาเวซ เวเนซุเอลาไม่มีค่ายกักกันหรือการสังหารหมู่ ประชาสังคม (civil society) ไม่ได้ล่มสลายลงเหมือนในคิวบาหลังการปฏิวัติปี พ.ศ. 2502 รัฐไม่มีการใช้ระบบความรุนแรงนอกกฎหมายที่ใช้วิธี “อุ้ม” หรือ “ฆ่าตัดตอน” ประชากรนับร้อย อย่างที่เคยเกิดในอาร์เจนตินาและชิลีในช่วงทศวรรษ 2510-2520 และเวเนซุเอลาก็ไม่มีระบบราชการบ้าอำนาจที่คอยแทรกแซงและกดขี่ประชาชน ในทางตรงกันข้าม เวเนซุเอลามีพรรคฝ่ายค้านที่แข็งแกร่ง จัดการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ มีสื่อมวลชนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และภาคประชาสังคมที่ตื่นตัวและดูแลกันเองอย่างเป็นระบบ กล่าวโดยสรุป เวเนซุเอลาดูเหมือนประชาธิปไตยมาก
แต่เมื่อหันมามองประเด็นเรื่องความรับผิด (accountability) และขีดจำกัดอำนาจของประธานาธิบดี ภาพที่เราเห็นกลับจากขาวเป็นดำ ขณะนี้ชาเวซมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ในการควบคุมองค์กรรัฐทั้งหมดที่อาจจำกัดอำนาจของเขาได้ ในปี พ.ศ. 2542 ชาเวซผลักดันให้รัฐออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยกเลิกวุฒิสภา เหลือเพียงสภาเดียวที่เขาต้องต่อรองด้วย และแก้ไขระเบียบของรัฐสภาใหม่ ให้ต้องใช้เสียงเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้นในการผ่านกฎหมายสำคัญๆ ไม่ใช่สองในสามอย่างที่เป็นมา เนื่องจากพรรคของชาเวซมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อยในรัฐสภา หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องง่ายที่จะผลักดันให้รัฐสภาอนุมัติการเพิ่มตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา จาก 20 เป็น 32 ซึ่งแน่นอน ตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นนั้นเต็มไปด้วยคนสนิทของชาเวซ พวกที่ชอบขนานนามตัวเองว่า “นักปฏิวัติ” (revolucionarios)
นอกจากจะรวบอำนาจพลเรือนไว้ในมือแล้ว ชาเวซยังรวบอำนาจทหารทั้งหมดไว้กับตัว เขารั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดสองครั้งซ้อน และยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐสภา เมื่อเวเนซุเอลาผ่านรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2542 แน่นอน ข้อนี้ทำให้ชาเวซสามารถปลดหรือโยกย้ายนายทหารที่ต่อต้านเขาได้ตามอำเภอใจ พร้อมแต่งตั้งพวกเดียวกันเข้าแทนที่ ในปี 2547 เขาเริ่มสร้างกองทัพพลเรือนในเขตเมือง ซึ่งเขาหวังจะขยายกำลังพลจาก 100,000 ให้ถึง 2 ล้านคนในที่สุด ทหารสำรองจำนวนมากขนาดนี้อาจช่วยให้ชาเวซไม่มีวันตกเป็นพรรคฝ่ายค้านเลย
ที่สำคัญไม่แพ้กัน ชาเวซควบคุมสภาการเลือกตั้ง (องค์กรอิสระที่ดูแลการเลือกตั้งของประเทศ) และ PDVSA บริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของรัฐ อำนาจนี้ย่อมแปลว่าองค์กรนี้จะมองข้ามพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่ชอบมาพากลในคูหาเลือกตั้ง และโยงไปถึงรัฐบาลได้ และอุตสาหกรรมน้ำมันที่อยู่ภายใต้อำนาจของชาเวซให้เงินรัฐบาลของเขาใช้อย่างไม่อั้น โดยเฉพาะในฤดูเลือกตั้ง
กล่าวโดยสรุป ชาเวซควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ ศาลฎีกา ทหารสองกองทัพ แหล่งรายได้รัฐที่ใหญ่ที่สุด และองค์กรอิสระที่ดูแลการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนว่าแค่นั้นยังไม่พอ กฎหมายสื่อฉบับใหม่อนุญาตให้รัฐควบคุมดูแลเนื้อหาของสื่อ และกฎหมายอาญาฉบับใหม่ก็อนุญาตให้รัฐคุมขังประชากรคนไหนก็ได้ที่แสดง “ความไม่เคารพ” ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ชาเวซสั่งให้รัฐบาลโพสต์รายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งจุดยืนทางการเมืองของพวกเขา และข้อมูลว่าแต่ละคนโหวตอย่างไรในการลงประชามติถอดถอนประธานาธิบดีเมื่อปี พ.ศ. 2547 (รัฐธรรมนูญเวเนซุเอลาอนุญาตให้ประชาชนล่ารายชื่อเพื่อจัดทำประชามติในการถอดถอนเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับที่มาจากการเลือกตั้ง โดยต้องล่ารายชื่อให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งตำแหน่งนั้นๆ (ในกรณีของประธานาธิบดี ต้องใช้ 2.3 ล้านรายชื่อ) และเมื่อได้รายชื่อครบจำนวนแล้ว ในการลงประชามติถอดถอนเจ้าหน้าที่รัฐออกจากตำแหน่ง ต้องใช้คะแนนเสียงเกินกว่าร้อยละ 25 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด) มาตรการนี้ของชาเวซทำให้เกิดปรากฎการณ์ “ความรับผิดกลับข้าง” (reverse accountability) กล่าวคือ รัฐเป็นผู้สอดส่องดูแลและลงโทษพลเรือนผู้มีพฤติกรรมทางการเมืองที่รัฐไม่ชอบ แทนที่จะเป็นพลเรือนร่วมกันสอดส่องดูแลรัฐ ถ้าประชาธิปไตยหมายถึงระบอบที่มีกลไกตรวจสอบผู้มีอำนาจ เวเนซุเอลาก็อยู่ห่างไกลจากระบอบนั้นแน่ๆ
การแบ่งประเทศเป็นสองขั้วแล้วกำราบ
แม้ว่าชาเวซจะมีอำนาจมหาศาลอยู่ในมือ ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เคยเผชิญกับการต่อต้าน ระหว่างปี พ.ศ. 2544 และ 2547 เวเนซุเอลาทั้งประเทศเกือบเป็นอัมพาตหลายคราวจากการเดินขบวนต่อต้านกว่า 19 ครั้ง การประท้วงที่เรียกว่า cacerolazos (pot-bangings) ซึ่งผู้ร่วมชุมนุมนับล้านคนร่วมกันตีหม้อเป็นเสียงดังกัมปนาทติดต่อกันหลายวัน และการประท้วงหยุดงานของพนักงานบริษัท PDVSA ทหารกลุ่มหนึ่งถึงขนาดทำรัฐประหารยึดอำนาจจากชาเวซชั่วคราวในปี พ.ศ. 2545 ต่อมาไม่นาน แม้ว่าสภาการเลือกตั้งจะใช้อำนาจกีดขวางอย่างที่สุด พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ต่อต้านชาเวซก็ยังสามารถล่ารายชื่อได้ถึง 3.2 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 และ 3.4 ล้านคนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 เพื่อจัดประชามติถอดถอนชาเวซ
แต่ฝ่ายต่อต้านชาเวซก็ทำได้เพียงแค่นั้น ชาเวซได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการลงประชามติถอดถอนเขาในปี 2547 ผู้สังเกตการณ์หลายรายมองว่า ความสำเร็จของชาเวซในการครองอำนาจนั้นอธิบายได้ง่ายมากด้วยเหตุผลสั้นๆ คือ เขาเป็นวีรบุรุษของคนจน ผู้สังเกตการณ์เหล่านี้บอกว่า ชาเวซอาจเป็นเผด็จการบ้าอำนาจ แต่เขาไม่เหมือนเผด็จการบ้าอำนาจคนอื่นๆ ตรงที่เขาช่วยคนจนเหมือนโรบินฮู้ด การใช้โวหารอันร้อนแรงและใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐอย่างมือเติบของชาเวซ ทำให้เขาตอบสนองต่อความต้องการทั้งด้านวัตถุและด้านอุดมการณ์ของผู้ยากไร้ในเวเนซุเอลา ซึ่งมีจำนวนกว่าร้อยละ 60 ของประชากรทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม มุมมองที่ถือว่าความสำเร็จทางการเมืองของชาเวซเป็นเพียงเรื่องของชัยชนะทางสังคมนั้น เป็นมุมมองตื้นเขินที่มองข้ามทั้งความซับซ้อนของระบอบชาเวซ และอันตรายที่เขาสถาปนาขึ้น ไม่มีใครโต้แย้งได้ว่าชาเวซเป็นผู้ริเริ่มโครงการด้านสังคมมากมาย ในพื้นที่กันดารซึ่งภาคเอกชนและรัฐบาลก่อนๆ ทิ้งให้เป็นทำเลหากินของมาเฟียท้องถิ่น แม้ว่าโครงการเหล่านั้นจำนวนมากจะเกิดขึ้นหลังจากการลงประชามติถอดถอนของประชาชน ชาเวซเพิ่มขีดการใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐในอัตราส่วนที่สูงลิ่ว คือจากร้อยละ 19 ของ GDP ในปี พ.ศ. 2542 เป็นกว่าร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2547 แต่เงินที่อัดฉีดลงไปกลับไม่ได้ช่วยให้ภาวะความยากจน การศึกษา หรือความเท่าเทียมกันในประเทศดีขึ้น นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่หักล้างทฤษฎีที่ว่าชาเวซเป็น “โรบินฮู้ดของคนจน” คือ ชาเวซไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนจนส่วนใหญ่ ผลการสำรวจส่วนใหญ่ระบุว่า คนจนอย่างน้อยกว่าร้อยละ 30 ไม่ชอบชาเวซ และผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ออกไปเลือกตั้งคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ถึง 40 ของผู้นอนหลับทับสิทธิทั้งหมด
ความจริงที่ว่าชาเวซไม่สามารถควบคุมคนจนทั้งหมดได้ เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจกับเผด็จการสไตล์ใหม่ของเขา ซึ่งเราอาจขนานนามว่า “เผด็จการแข่งขันได้” (competitive autocracy) ผู้นำเผด็จการแบบแข่งขันได้นั้นต้องมีเสียงสนับสนุนมากพอที่จะลงสนามเลือกตั้ง แต่ไม่มากพอที่จะเอาชนะฝ่ายตรงข้ามอย่างราบคาบ วันนี้ผู้สนับสนุนชาเวซประกอบด้วยคนจนส่วนหนึ่ง ทหารส่วนใหญ่ของกองทัพที่ถูกโยกย้ายจนไม่เหลือเค้าเดิม และนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่เคยหมดความสำคัญไปนานแล้วก่อนชาเวซขึ้นครองอำนาจ
เผด็จการแข่งขันได้ของชาเวซแตกต่างจากนักเผด็จการตามขนบธรรมเนียมเดิมสองประเภทคือ นักเผด็จการแบบไร้คนนิยมจนต้องกดขี่ประชาชนเพื่อรักษาอำนาจ กับนักเผด็จการแบบเคยตัวที่มีคนต่อต้านน้อยมากจนสามารถเสวยอำนาจได้อย่างสบายๆ ฝ่ายต่อต้านชาเวซเข้มแข็งเกินกว่าที่จะใช้กำลังเข้าปราบปรามตรงๆ และอย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรณีนั้นก็จะรุนแรงมาก ด้วยเหตุนี้ชาเวซจึงใช้กลไกที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตยในการปกครองประเทศ ซึ่งบังคับให้เขาต้องเอาชนะฝ่ายตรงข้ามด้วยการชิงไหวชิงพริบ ดังนั้นชาเวซจึงยุให้คนเกลียดฝ่ายตรงข้าม แทนที่จะสั่งห้ามตรงๆ ความสำเร็จของชาเวซในสนามเลือกตั้งมีสาเหตุมาจากวิธีการตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม มากกว่าความช่วยเหลือที่เขาให้คนจน ชาเวซพบว่าเขาสามารถกุมอำนาจเมื่อเผชิญกับฝ่ายตรงข้ามที่น่าเกลียดชัง ง่ายกว่าตอนเผชิญหน้าฝ่ายตรงข้ามที่ถูกแบน และในแง่นี้ เท่ากับว่าชาเวซกำลังเขียนคู่มือเล่มใหม่สำหรับผู้นำที่ต้องการเป็นเผด็จการสมัยใหม่ โดยมีวิธีการหลักๆ ดังต่อไปนี้
โจมตีพรรคการเมือง: หลังจากความพยายามของชาเวซที่จะยึดอำนาจโดยรัฐประหารในปี พ.ศ. 2535 ล้มเหลว (อาจเป็นตลกร้ายที่เกิดปีเดียวกันกับพฤษภาทมิฬในเมืองไทย – ผู้แปล) เขาก็ลองลงสมัครเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2541 กลยุทธ์การหาเสียงของชาเวซใช้ธีมเดียวเป็นหลัก คือการโพนทะนาถึง “ความชั่วร้าย” ของพรรคการเมือง ชาเวซกล่าวโจมตีพรรคการเมืองบ่อยครั้งกว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ของโลกตะวันตก กลยุทธ์นี้ทำให้เขาได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากประชาชน เพราะเวเนซุเอลาก็เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ คือพลเมืองส่วนใหญ่รู้สึกเบื่อหน่ายและไม่พอใจพรรคการเมืองหน้าเดิมๆ ชาเวซได้รับคะแนนนิยมจากทั้งฝ่ายซ้ายและขวา ทั้งหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ ทั้งผู้เจนจัดกับการใช้สิทธิและผู้ใช้สิทธิหน้าใหม่ จุดยืนที่ต่อต้านพรรคการเมืองของชาเวซไม่เพียงแต่ช่วยให้เขาได้รับเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เขาสามารถผ่านหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคการเมืองที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ในเดือนธันวาคม 2542 แผนการกุมอำนาจของชาเวซเริ่มต้นอย่างสวยงาม
แบ่งแยกสังคมออกเป็นสองขั้ว: หลังจากได้รับเลือกตั้งแล้ว ขั้นต่อไปของนักเผด็จการแข่งขันได้คือแบ่งแยกระบอบการเมืองออกเป็นสองขั้วตรงข้าม กลยุทธ์นี้ทำให้จุดยืนแบบกึ่งกลาง (คือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด) เลือนหายไป และทำให้รักษาความสามัคคีในหมู่พรรคพวกของตนได้ การลดขนาดของจุดยืนกึ่งกลางนั้นเป็นกลยุทธ์สำคัญของนักเผด็จการแข่งขันได้ เพราะในสังคมส่วนใหญ่ ผู้มีจุดยืนทางอุดมการณ์ที่อยู่ตรงกลางมีจำนวนมาก ซึ่งนั่นเป็นปัญหาต่อเผด็จการเพราะผู้มีสิทธิออกเสียงเหล่านั้นมักไม่ชอบโหวตเลือกนักการเมืองหัวรุนแรงทั้งสองขั้ว
ทางออกของชาเวซคือยั่วยุให้ฝ่ายตรงข้ามถอยไปใช้จุดยืนแบบสุดขั้ว การอุบัติขึ้นของขั้วการเมืองสองขั้วตรงข้ามส่งผลให้จุดยืนกึ่งกลางถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ประชาชนที่หัวเอียงซ้ายนิดๆ จะรู้สึกไม่พอใจฝ่ายขวาจนขยับจุดยืนไปทางซ้ายสุดขั้ว ในขณะที่ประชาชนหัวเอียงขวานิดๆ ก็จะขยับไปอยู่ฝ่ายขวาสุดขั้วในทำนองเดียวกัน จนในที่สุดผู้ยึดอุดมการณ์ตรงกลางก็จะเหลือจำนวนเพียงหยิบมือเดียว ไม่สำคัญสำหรับนักการเมืองอีกต่อไป การทำแบบนี้หมายความว่า ชาเวซมีโอกาสได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อยหนึ่งในสามในการเลือกตั้งทุกครั้ง เขาแบ่งแยกสังคมออกเป็นสองขั้วได้สำเร็จตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 ด้วยการออกกฎ 1011 ซึ่งระบุว่าเขาจะแปลงโรงเรียนเอกชนทั้งหมดให้เป็นของรัฐ และบรรจุอุดมการณ์ทางการเมืองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ฝ่ายตรงข้ามตอบโต้ด้วยวิธีที่ชาเวซพยากรณ์ไว้ก่อนหน้า – พวกเขาตื่นตระหนก ระดมเสียงคัดค้าน และถอยไปใช้จุดยืนแบบแข็งขืนในการปกป้องสถานภาพเดิม จุดยืนแบบกึ่งกลางเริ่มหดตัวลงนับจากนั้น
ในขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนชาเวซรู้สึกว่าพวกเขามีพลังในการเคลื่อนไหว และไม่อยากทะเลาะกันเองในขณะที่ชาเวซเข้าครอบงำสถาบันต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ นักเผด็จการแข่งขันได้ต้องอาศัยพลังมวลชน เพราะมีโอกาสที่จะเผชิญกับกระแสต่อต้านในประเทศสูงกว่าเผด็จการที่คนชัง เพราะผู้สนับสนุนเขามีความหลากหลายมากกว่า ดังนั้นนักเผด็จการแข่งขันได้จึงต้องค้นหากลไกที่จะช่วยบรรเทาความขัดแย้งภายใน คำตอบของชาเวซคือ ตบรางวัลงามๆ เป็นแรงจูงใจให้ทหารสนับสนุน และยั่วยุฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างวายร้ายให้คนต่อต้านตลอดเวลา จะได้ไม่อยากเปลี่ยนข้าง
กระจายความมั่งคั่งอย่างเลือกสรร: ใครก็ตามที่คิดว่าประชานิยมของชาเวซเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพราะช่วยแก้ไขความขัดสนในชีวิต ไม่ใช่เพราะประโยชน์ทางการเมืองของพวกเขา คือคนที่ไม่เข้าใจเผด็จการแข่งขันได้ นโยบายประชานิยมของชาเวซแม้จะฟังดูยิ่งใหญ่ แต่ก็เต็มไปด้วยวาระซ่อนเร้น คนที่สนับสนุนเขาจะได้รับการสมนาคุณชนิดคาดไม่ถึง ในขณะที่ผู้เอาใจออกห่างจะได้รับเพียงคำดูถูกเหยียดหยาม การตกรางวัลให้กับฝ่ายสนับสนุน และปฏิเสธสิ่งนั้นต่อฝ่ายตรงข้าม มีประโยชน์ข้างเคียงตรงที่ทำให้ฝ่ายตรงโมโหมากขึ้น ทำให้สองขั้วตรงข้ามทางการเมืองถ่างออกจากกันมากกว่าเดิม สมความตั้งใจของเผด็จการแข่งขันได้
ชาเวซมีทรัพยากรล้นเหลือในการทำตามแผน เขาเป็นหนึ่งในซีอีโอที่มีอิทธิพลสูงสุดในโลก ในหนึ่งในธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุด นั่นคือ การขายน้ำมันให้กับสหรัฐอเมริกา ชาเวซค่อยๆ ยึดอำนาจการบริหารจัดการบริษัท PDVSA มาเป็นของตัวเอง PDVSA ทำรายได้กว่า 3.3 ล้านล้านบาท ในปี 2548 เป็นอันดับสองในทวีปอเมริกาใต้รองจาก PEMEX บริษัทน้ำมันของรัฐบาลเม็กซิโก นอกจากนี้ PDVSA มีคลังน้ำมันสำรองใหญ่เป็นอันดับห้าของโลก และทำกำไรสูงเสมอไม่ว่าราคาน้ำมันจะขึ้นหรือลง เพราะทำธุรกิจทั้งด้านขายส่งและขายปลีกน้ำมันในอเมริกา (PDVSA เป็นเจ้าของ CITGO หนึ่งในบริษัทโรงกลั่นน้ำมันและขายปลีกก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา)
แต่เงินอย่างเดียวไม่ทำให้การแบ่งแยกเป็นผลสำเร็จ ชาเวซต้องการความขัดแย้งด้วย ในแง่นี้ การยึดที่ดินเอกชนมาเป็นของรัฐช่วยบรรลุจุดมุ่งหมาย ระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน พ.ศ. 2548 รัฐบาลกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ และกองกำลังรักษาดินแดน ผนึกกำลังกันเข้ายึดที่ดินกว่า 625,000 ไร่ และรัฐบาลประกาศว่าจะยังไม่หยุด รัฐธรรมนูญเวเนซุเอลาอนุญาตให้รัฐยึดที่ดินหลังจากรัฐสภาอนุมัติ หรือเป็นที่รกร้างมานานเท่านั้น แต่ชาเวซเลี่ยงกฎหมายด้วยการอ้างว่าโฉนดที่ดินไม่ถูกต้อง และจริงๆ แล้วที่ดินนั้นเป็นของรัฐ ทันทีที่ชาเวซออกมาตรการนี้ ผู้สนับสนุนก็ออกมาสรรเสริญว่าเขาเป็นโรบินฮู้ดของคนยาก แต่รัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือคนจนจริงๆ สามารถแจกจ่ายที่ดินที่รัฐเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของที่ดินทั้งประเทศ และส่วนใหญ่เป็นที่ดินว่างเปล่า แทนที่จะไปยึดที่ดินของเอกชน แต่การแจกจ่ายที่ดินรัฐไปเฉยๆ จะไม่ทำให้ใครโกรธ ซึ่งจะผิดเป้าหมายของชาเวซ
นอกจากนั้น ที่ดินเอกชนส่วนใหญ่ที่รัฐไปยึดมาจะตกอยู่ในมือของนักการเมืองฝ่ายชาเวซและเหล่าทหารชั้นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ผู้ยากไร้ การได้เป็นเจ้าของที่ดินผืนเล็กๆ เป็นชีวิตหลังเกษียณในอุดมคติของนายพลหลายคน ซึ่งนั่นทำให้ทหารสนับสนุนนโยบายยึดที่ดินของชาเวซโดยไม่มีข้อโต้แย้ง
ยอมให้ระบบราชการเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ: ระบอบเผด็จการในบางประเทศ เช่น พม่า แสวงหาความชอบธรรมจากการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ระบอบเผด็จการอีกหลายประเทศ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์จีน แสวงหาความชอบธรรมจากการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ ระบอบเผด็จการทั้งสองแบบนี้ต้องใช้ระบบราชการที่เข้มแข็ง นักเผด็จการแข่งขันได้อย่างชาเวซไม่ต้องการเช่นนั้น เขาปล่อยให้ระบบราชการอ่อนแอได้ ยกเว้นในกรณีเดียว คือหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่นับคะแนนเลือกตั้ง
บางที หลักฐานชิ้นสำคัญที่สุดที่ส่อให้เห็นว่าชาเวซกำลังสร้างความวุ่นวายในวงราชการ คือความถี่ของการปรับคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องยากที่รัฐจะดำเนินนโยบายอะไรได้หากรัฐมนตรีไม่อยู่ในตำแหน่งนานพอที่จะตกแต่งห้องทำงาน โดยเฉลี่ย ชาเวซปรับรัฐมนตรีกว่าครึ่งของคณะรัฐมนตรีทุกปี แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็สร้างเครื่องยนต์แห่งการเลือกตั้งอันยิ่งใหญ่ เหล่า “ขุนนางข้าราชการ” ( técnicos) ระดับหัวกะทิเป็นผู้จัดการและดูแลการเลือกตั้ง หนึ่งในพ่อมดด้านนี้ของชาเวซคือรัฐมนตรีคลังผู้เงียบขรึมนาม เนลสัน เมเรนเตส (Nelson Merentes) ผู้ใช้เวลาคิดกลยุทธ์เอาชนะเลือกตั้งมากกว่าฐานะการคลังของรัฐ เมเรนเตสมีหน้าที่ชัดเจน – เขาต้องทำให้พรรคได้รับที่นั่งในสภาสูงสุดจากผลการเลือกตั้ง หน้าที่นี้ต้องใช้ความเข้าใจระบบเลือกตั้งอย่างลึกซึ้ง การแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิผล การหว่านล้อมผู้ใช้สิทธิกลุ่มใหม่ๆ ให้ออกไปเลือกตั้ง ความรู้ว่าประชาชนในแต่ละเขตชอบพรรคการเมืองหรือนักการเมืองแบบไหน และแน่นอน ต้องใช้กลโกงเลือกตั้งช่วยด้วย เมเรนเตสเหมาะกับหน้าที่นี้ที่สุดเพราะเขาเป็นนักคณิตศาสตร์หัวไว
ผลที่เกิดขึ้นเดาได้ไม่ยาก แม้ว่าราชการเวเนซุเอลาใช้เวลานับเดือนในการต่ออายุหนังสือเดินทางให้ประชาชน จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเพิ่มขึ้นถึง 2.7 ล้านคนในระยะเวลาไม่ถึงสองปี (เท่ากับรัฐลงทะเบียนให้ผู้ใช้สิทธิรายใหม่ 3,700 คนต่อวัน) รัฐบาลเพิ่มรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระยะเวลาไม่ถึง 30 วัน ก่อนการลงประชามติถอดถอนชาเวซในปี 2547 ทำให้ไม่มีใครตรวจสอบความผิดปกติได้ คนต่างด้าวจำนวน 530,000 คน ได้รับอนุมัติสัญชาติเวเนซุเอลาในช่วงเวลาไม่ถึง 20 เดือน และประชาชนกว่า 3.3 ล้านคนถูกโยกย้ายชื่อไปใส่ในเขตเลือกตั้งเกิดใหม่
นักวางแผนการเลือกตั้งของชาเวซยังสามารถหาวิธีจัดการกับระบบเลือกตั้งของประเทศที่แบ่งออกเป็นสองส่วน คือสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ร้อยละ 60) ซึ่งประชาชนมีสิทธิเลือกรายบุคคล และปาร์ตี้ลิสต์ (ร้อยละ 40) ระบบนี้ถูกออกแบบให้ช่วยพรรคการเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสอง เพราะพรรคที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้ง ส.ส. เขต จะต้องเสียที่นั่งในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ให้กับพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับสอง
รัฐบาลชาเวซเอาชนะระบบนี้ด้วยการใช้แผนที่เรียกว่า morochas (ศัพท์แสลงท้องถิ่นที่แปลว่า “คู่แฝด”) โดยให้ลูกจ้างรัฐบาลก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ และส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งใน ส.ส. เขต วิธีนี้ทำให้พรรคของชาเวซหลีกเลี่ยงการสูญเสียถ้าพรรคของเขาชนะทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. เขต และการเลือกตั้ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะเท่ากับว่าผู้ชนะในการเลือกตั้งทั้งสองวงเป็นคนกลุ่มเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านไม่ได้อะไรเลย ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของเมืองวาเลนเซียเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 พรรคของชาเวซได้ที่นั่งกว่าร้อยละ 77 ทั้งๆ ที่ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 37 เท่านั้น ถ้าไม่มี morochas ช่วย พรรครัฐบาลจะได้ที่นั่งเพียงร้อยละ 46 ของที่นั่งทั้งหมดเท่านั้น แน่นอน กลยุทธ์แบบนี้อาจมองได้ว่าผิดกฎหมาย (หรืออย่างน้อยก็ผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย) และตรงนี้เองที่ทำให้การควบคุมองค์กรอิสระ เช่นสภาการเลือกตั้งและศาลฎีกา มีประโยชน์ล้นเหลือต่อชาเวซ จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครตัดสินว่ากลยุทธ์ของพรรครัฐบาลนี้ผิดกฎหมาย
ยั่วยุอภิมหาอำนาจ: หลังจากชาเวซชนะในการลงประชามติถอดถอนเมื่อปี 2547 ด้วยคะแนนเสียง “ไม่ถอดถอน” กว่าร้อยละ 58 พรรคฝ่ายค้านของประเทศก็ตกเป็นฝ่ายงงงวยจนพูดไม่ออก ไม่ใช่เพราะผลลัพธ์ออกมาผิดคาด แต่เพราะผู้สังเกตการณ์ต่างชาติหลายฝ่ายยอมรับรองการตรวจสอบแบบผิวเผินของสภาการเลือกตั้ง การเงียบเสียงของพรรคฝ่ายค้านเป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้ายสำหรับชาเวซ ข่าวดีก็คือเขาไม่ต้องเสียเวลามาต่อกรกับศัตรู แต่ข่าวร้ายก็คือ มันทำให้ชาเวซไม่มีเป้าให้โจมตีอีกต่อไป ทางออกของชาเวซคือ จับผิดสหรัฐอเมริกา
วาทะการโจมตีอเมริกาของชาเวซทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปลายปี 2547 เป็นต้นมา เขากล่าวหาอเมริกาว่าวางแผนลอบสังหารเขา ส่งสายลับเข้ามาใน PDVSA วางแผนที่จะบุกรุกเวเนซุเอลา และอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายทั่วโลก การโจมตีอภิมหาอำนาจช่วยบรรลุเป้าหมายเดียวกันกับการโจมตีฝ่ายตรงข้ามในประเทศ – มันช่วยให้กลุ่มที่เกลียดอเมริการวมตัวกันได้เป็นปึกแผ่น และช่วยหันเหจุดสนใจของผู้สนับสนุนเขา (แทนที่จะมองความผิดพลาดของนโยบายต่างๆ ในประเทศ) จุดยืนแบบสุดขั้วของชาเวซยังทำให้เขาได้เปรียบอีกข้อหนึ่ง คือ ทำให้เขาเป็นขวัญใจของฝ่ายซ้ายทั่วโลก
เผด็จการทุกคนต้องการแรงสนับสนุนจากต่างชาติ เผด็จการหลายคนหาเสียงสนับสนุนด้วยการเอาใจประเทศมหาอำนาจ วิธีของชาเวซคือใช้วาทกรรมสุดขั้วต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม ชาเวซกลายเป็นขวัญใจฝ่ายซ้ายหลายคน ทั้งๆ ที่เขายังไม่ประสบความสำเร็จในการกำจัดความยากจน อำนาจทหาร คอร์รัปชั่น อาชญากรรม อัตราการพึ่งพิงรายได้จากน้ำมัน และระบอบทุนนิยมอุปภัมถ์ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาใหญ่ในสายตาของฝ่ายซ้ายทั่วโลก ชาเวซไม่มีกรณีความสำเร็จแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยใดๆ ที่จะใช้ผูกใจฝ่ายซ้าย ก็เลยต้องเลือกเล่นไพ่ “ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา” ซึ่งเป็นใบเดียวที่เขาเหลืออยู่ในมือ
ความฉลาดของนโยบายนี้คือ มันเป็นผลสำเร็จไม่ว่าอเมริกาจะตอบโต้อย่างไร หากรัฐบาลอเมริกาทำเป็นเพิกเฉย (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำก่อนหน้าปี 2547) ก็จะดูเหมือนยอมให้ชาเวซได้ชัยชนะ หากอเมริกาตอบโต้แบบเลยเถิด ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังเห็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะดูเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่ชาเวซพูดนั้นเป็นความจริง เผด็จการทั้งหลายโปรดสังเกตว่า การประณามอเมริกาเป็นนโยบายต้นทุนต่ำที่ให้ผลตอบแทนสูงในการเรียกเสียงสนับสนุนบนเวทีโลก
ความวุ่นวายที่ควบคุมได้
ท้ายที่สุดแล้ว ระบอบเผด็จการทุกชนิดแสวงหาอำนาจด้วยการเดินตามหลักการเดียวกัน คือ พวกเขาเพิ่มขีดความอดทนของสังคมต่อการแทรกแซงของรัฐ โธมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาชาวอังกฤษสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีข้อแนะนำบางประการที่ช่วยให้เผด็จการบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ยิ่งประชาชนรู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาไม่มีความมั่นคงเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยินดีต้อนรับอำนาจรัฐมากขึ้นเท่านั้น ชาเวซอาจไม่เคยอ่านหนังสือของฮ็อบส์ แต่เขาเข้าใจความคิดแบบฮ็อบส์อย่างถึงแก่น เขารู้ดีว่าประชาชนที่คิดว่าโลกกำลังจะล่มสลายจะยินดียอมรับการแทรกแซงของรัฐ ดังนั้น ชาเวซจึงไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่จะแก้ไขวิกฤตของประเทศอย่างจริงจัง แทนที่จะแก้ไขระบบโรงพยาบาลรัฐของประเทศที่ล้มเหลวอย่างรุนแรง เขากลับเปิดโรงพยาบาลทหารใหม่ๆ รับคนไข้ที่มีเส้นสาย และจ้างแพทย์จากคิวบาให้มาเปิดคลินิก แทนที่จะออกนโยบายกระตุ้นขีดการแข่งขันของเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะตกต่ำ เขากลับให้เงินอุดหนุนและออกมาตรการคุ้มครองบริษัทที่มีปัญหา แทนที่จะจัดการกับเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน เขากลับใช้มาตรการควบคุมราคาและสร้างเครือข่ายร้านโชห่วยภายใต้เพดานราคาที่รัฐกำหนด แทนที่จะส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงาน เขากลับขยายการจ้างงานของภาครัฐ
ชาเวซคล้ายกับแฟชั่นดีไซเนอร์ส่วนใหญ่ตรงที่เขาไม่ได้คิดอะไรใหม่ๆ ทั้งดุ้น สไตล์การปกครองแบบเผด็จการของเขาได้รับอิทธิพลมากมาย เช่น วาทกรรมต่อต้านอเมริกาถอดแบบมาจากฟิเดล คาสโตร แห่งคิวบา การใช้งบประมาณภาครัฐตกรางวัลผู้สนับสนุนและลงโทษผู้ต่อต้านถอดแบบมาจากประชานิยมแบบอเมริกาใต้ขนานแท้และดั้งเดิม และการครอบงำองค์กรอิสระเป็นบทเรียนจากประธานาธิบดีสไตล์เสรีนิยมคนก่อนๆ ของประเทศ ช่วงทศวรรษ 1990
ชาเวซผสมผสานเทคนิคเหล่านี้เข้าด้วยกันเป็นโมเดลเผด็จการสมัยใหม่ สูตรการปกครองของเขาเข้ากันได้ดีกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ โลกที่ประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาแข็งแกร่งพอที่จะรอดพ้นเงื้อมมือของการก่อรัฐประหารแบบโบราณ (ยกเว้นในประเทศไทยกระมัง – ผู้แปล) แต่ต้องเผชิญกับความเหลวแหลกของสถาบันต่างๆ หลายประเทศในโลก ตั้งแต่เอกวาดอร์ ไปยังอียิปต์และรัสเซีย กำลังเป็นที่บ่มเพาะชั้นดีสำหรับระบอบเผด็จการแข่งขันได้
เมื่อประธานาธิบดีจอร์จ บุช กล่าวประณามชาเวซหลังจากการประชุมสุดยอดระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 ผ่านพ้นไปไม่นาน บุชอาจรู้สึกสบายใจกับความเชื่อผิดๆ ว่า ชาเวซเป็นผู้นำชายขอบ เป็นจุดด่างเพียงจุดเดียวในโลกที่กระแสประชาธิปไตยกำลังโหมกระพือ แต่ในความเป็นจริง ชาเวซได้เรียนรู้ที่จะล่องกระแสนั้นอย่างดีเยี่ยม และเขากำลังเป็นแรงบันดาลใจให้เผด็จการอีกหลายคนเดินตาม.
วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
9 ความคิดเห็น:
ได้อ่านบทความนี้แล้วน่าจะเป็นบทความออนไลน์
มานะ ทันสมัยจริงนะประชาธิปไตยเบ่งบาน
sureesud@yahoo.com
เพื่อประชาธิปไตยชักชวนให้เข้าแวะเยี่ยมชมBLOGGER ประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่ผมไม่มีBLOGGER เลยขอเข้าของกลุ่มประชาธิปไตยเบ่งบานก็แล้วกันนะครับ
ขอชมว่าใช้ได้เลยสำหรับการทำเรื่องเกี่ยวกับการเมือง
สำหรับผู้หญิงในยุคปัจจุบันนี้ครับ
joenoon@yahoo.com
** สำหรับบ้านเรา คงต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับเปลี่ยนการเมืองการปกครองทั้งระบบ โดยเฉพาะระบบอุปภัมภ์ ก็ขอให้ผู้นำประเทศ นักการเมืองทั้งหลายมีจริยธรรม คุณธรรมในการนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ โดยที่ประชาชนมีกินมีใช้อย่างไม่ขัดสน เป็นการกระจายรายได้สู่ชนชั้นรากหญ้าจริงๆ **
พรุ่งนี้จะไปช่วยสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจ การเมืองใหม่เปลี่ยนประเทศไทยให้ดีขึ้น
คุณหามาจากไหน ขอลิงค์ติดตามหน่อยซิ
**เฮ้อ!เหนื่อยจ๊ะกว่าจะอ่านจบ.. ดีมากค่ะสำหรับบทความที่นำเสนอ ขอไปดื่มน้ำก่อนนะ เดี๋ยวค่อยมาคุยกัน**
*** มหาอำนาจ สามารถ ชี้แนะ ชี้นำ แต่ไม่ใช่ชี้ให้ทำ
เรื่องนั้นเราคิดเองตัดสินใจเอง แต่ที่ผ่านมาด้วยผลประโยชน์ที่โยนเข้าปาก จึงเกิดสำนวน "สุนัขรับใช้" มาปรทับตราชั่วให้หลายๆคนในแวดวงการเมืองการปกครอง....
ไม่เข้าใจว่าคำถามของ เพื่อประชาธิปไตย ถ้าหมายถึงสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจ ผู้ทำ Blogger อยู่รัฐวิสาหกิจ
ขอขอบคุณ joenoon@yahoo.com ที่เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย ผู้จัดมีความสนใจเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่อายุ 19 เห็นจะได้ และได้ทำการศึกษา แยกแยะปัญหาผิด ถูก เกมส์การเมือง วันหนึ่งเกิดเข้าใจสัจธรรม และไม่คิดอยากได้ ยศ ชื่อเสียง วันหนึ่งคุณอาจจะเห็นดิฉันเขียนและรวบรวมหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์เกมส์การเมืองสะพานมัฆวาน ที่ประชาชนเรียกร้องก็ได้น่ะค่ะ ช่วยเป็นกำลังใจให้ด้วยล่ะกัน
แสดงความคิดเห็น