วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สังคมในระบอบประชาธิปไตย

สังคมในระบอบประชาธิปไตย เป็นสังคมที่ยอมรับในความแตกต่าง การร่วมมือและการประนีประนอมในระบอบประชาธิปไตยนั้น การจะได้มาซึ่งฉันทามติต้องอาศัยการประนีประนอม และบางครั้งก็ไม่ได้มาเสมอไป จากคำพูดของมหาตมะคานธีที่ว่า "การขาดความอดกลั้นคือรูปแบบหนึ่งของความรุนแรง และเป็นอุปสรรคของการเจริญเติบโตของจิตวิญญาณประชาธิปไตย"

รูปแบบประชาธิปไตย

รูปแบบประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตย หรือการปกครองตนเองของประชาชน อาจจะแบ่งเป็น
1.ประชาธิปไตยโดยตรง – ประชาชนมาประชุมกัน อภิปรายและลงคะแนนกันในเรื่องสำคัญ เช่น การประชุมเรื่องงบประมาณ กฏหมาย ในระดับท้องถิ่น หรือการลงประชามติในระดับประเทศ เช่น การจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2.ประชาธิปไตยโดยระบบผู้แทน เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่มีประชาชนมาก มีความซับซ้อน ต้องแบ่งงานกันทำ จึงมักใช้วิธีเลือกผู้แทนขึ้นไปเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายออกกฏหมาย
3.ประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม การผสมผสานทั้ง 2 แบบแรก รวมทั้งการให้ประชาชนมีการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น มีองค์กรอิสระที่รักษาผลประโยชน์ฝ่ายประชาชน มีสื่อมวลชนและองค์กรประชาชนที่เข้มแข็ง ภาคประชาชนหรือสังคมพลเมืองมีบทบาทในการตัดสินใจเรื่องการบริหารประเทศค่อนข้างมาก ไม่ได้ปล่อยให้ผู้แทนทำทุกอย่างโดยประชาชนให้ใช้สิทธิแค่เลือกตั้งผู้แทนนานๆครั้งเท่านั้น ตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทย ใช้ประชาธิปไตยแบบที่ 2 เป็นบางช่วง (บางช่วงเป็นเผด็จการทหาร) ประเทศไทยควรใช้แบบที่ 1 และ 3 เพิ่มขึ้นเพราะระบอบประชาธิปไตย โดยระบบผู้แทนมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในสภาพที่นักการเมืองกลุ่มน้อยมีฐานะทางเศรษฐกิจสูง มีอำนาจและความรู้สูงกว่าประชาชนส่วนใหญ่มาก ทำให้คนกลุ่มนี้มักได้เป็นผู้แทน และมักจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ รวมทั้งการคอรัปชั่น,การหาผลประโยชน์ทับซ้อน โดยอ้างว่าเพราะประชาชนเลือกพวกเขาเข้าไปแล้ว เขาจะทำอะไรก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยทั้งนั้น ประชาธิปไตย โดยระบบผู้แทน หมายถึงว่า ประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปเป็นผู้บริหารจัดการแทนตัวพวกเขา เพื่อให้บริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เลือกไปเป็นเจ้านายและประชาชนยังมีสิทธิคัดค้านถอดถอนผู้แทนที่ขึ้นไปเป็นรัฐบาลแล้วไม่ได้ทำหน้าที่อย่างซื่อตรงและเพื่อส่วนรวมด้วย แต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่ได้เปิดช่องทางและไม่มีการให้การศึกษาและข่าวสารแก่ประชาชนว่า ประชาชนมีสิทธิ ประการหลังที่สำคัญนี้ด้วย ประชาชนไม่ได้เลือกผู้แทนไปเป็นเจ้านายในระบอบอำนาจนิยมซึ่งเป็นระบอบเก่า แต่วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม (ยกย่องเกรงกลัวคนมีอำนาจ) ยังคงตกค้างมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ประชาชนได้รับการศึกษาและข่าวสารน้อยและหรือได้รับแบบคุณภาพต่ำ ทำให้เป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบ หรือเป็นประชาธิปไตยเพียงบางส่วน ยังไม่ใช่การปกครองตนเองของประชาชน ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่หมายถึงแค่ ประชาธิปไตยทางการเมือง (ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ เลือกตั้ง คัดค้าน ถอดถอน ผู้แทนได้) เท่านั้น หากต้องเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (มีการกระจายทรัพย์สิน และรายได้ที่เป็นธรรม มีการแข่งขันที่เป็นธรรม) และประชาธิปไตยทางสังคม (ประชาชนมีการศึกษา รับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีสิทธิเสรีภาพ และโอกาสการเข้าถึง ศาสนา ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม อย่างเสมอภาคกัน) ด้วย ประชาธิปไตย 2 อย่างหลังนี้ ประเทศไทยยังมีน้อย รวมทั้ง ไม่มีการให้การศึกษา ให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารประชาชนในเรื่องนี้มากพอ เป็นเหตุให้ประชาธิปไตย การเมือง พัฒนาไปได้ช้ามาก

ความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย"

คำว่า "ประชาธิปไตย" ประกอบด้วยคำว่า "ประชา" หมายถึงหมู่คน คือ ปวงชน กับคำว่า "อธิปไตย" หมายถึง ความเป็นใหญ่

คำว่า "ประชาธิปไตย" จึงหมายถึง ความเป็นใหญ่ของปวงชน

ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" ไว้ในหนังสือพจนานุกรมของทางราชการว่า "แบบการปกครองที่ถึงมติปวงชนเป็นใหญ่"

ทั้งนี้พึงเข้าใจว่าการที่ปวงชนจะมีความเป็นใหญ่ในการแสดงมติได้ก็จำเป็นที่ชนทุกคนรวมกันเป็นปวงชนนั้นต้องมี "สิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน" อันเป็นสิทธิและหน้าที่ตามธรรมชาติของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค ซึ่งมนุษย์จะต้องใช้พร้อมกันกับหน้าที่ มิให้เกิดความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์อื่น และหมู่คนอื่น หรือปวงชนเป็นส่วนรวม ถ้าชนส่วนมากซึ่งเป็น "สามัญชน" ถูกตัดสิทธิมนุษยชนโดยให้มีหน้าที่แต่อย่างเดียว สามัญชนก็มีลักษณะเป็นทาส หรือข้าไพร่ของชนส่วนน้อย ซึ่งมีสิทธิใหญ่ยิ่ง หรือ "อภิสิทธิ์ชน" แบบการปกครองจึงไม่ใช่ประชาธิปไตย ถ้าสามัญชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างเดีย โดยไม่มีหน้าที่มนุษยชนแบบการปกครองก็เกินขอบเขตของประชาธิปไตย